ข้อบังคับสมาคม

หมวดที่ 1 ความทั่วไป

ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมบริหารการพยาบาล ย่อว่า ส.บพ. เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Nursing Administration Association ย่อว่า NAA

ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูปตะเกียงและมีชื่อของสมาคมอยู่ใต้ตะเกียงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยใช้สีม่วงและสีแสดซึ่งเป็นสีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และของคณะพยาบาลศาสตร์ตามลำดับ ดังได้แนบมาพร้อมข้อบังคับนี้

ข้อ 3.  สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ ภาควิชาบริหารการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลขที่ 110 ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม คือ
4.1 เป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้ด้านบริหารการพยาบาล
4.2 ส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่ความรู้ด้านบริหารการพยาบาล
4.3 ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดกิจกรรมด้านบริหารการพยาบาล
4.4 สนับสนุนด้านบริการวิชาการ การศึกษาและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการพยาบาล
4.5 สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4.6 ส่งเสริมจริยธรรมในการบริหารการพยาบาล
4.7 รวมพลังและสร้างเสริมความสามัคคีในกลุ่มบริหารการพยาบาล

หมวดที่ 3 สมาชิก

ข้อ 5. สมาชิกของสมาคมมี 2 ประเทศ คือ
5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่

5.1.1 อาจารย์พยาบาล ผู้บริหารการพยาบาล
5.1.2 ศิษย์เก่าและนักศึกษา สาขาวิชาการบริหารการพยาบาล
5.1.3 พยาบาลที่สนใจการบริหารการพยาบาล

5.2  สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่คณะกรรมการกลางมีมติให้เชิญเป็นสมาชิก

5.2.1 ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการบริหารการพยาบาล
5.2.2 ผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคม

ข้อ 6. สมาชิกสามัญ ต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
6.1 เป็นผู้สำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรทางการพยาบาล
6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยและไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.3 ไม่เคยต้องโทษหรือจำคุก
6.4 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ข้อ 7. ค่าสมัครสมาชิก
7.1 สมาชิกสามัญ ค่าสมัครสมาชิกตลอดชีพ   1,000 บาท
7.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าสมัคร

ข้อ 8.  การสมัครเป็นสมาชิก ผู้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิก ให้กรอกข้อความในใบสมัคร พร้อมผู้รับรองที่เป็นสมาชิกของสมาคมจำนวน 1 คน ยื่นเอกสารทั้งหมดต่อเลขานุการ เพื่อให้นำเข้าพิจารณาคุณสมบัติที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อได้รับมติให้เข้าเป็นสมาชิกจะแจ้งให้ผู้สมัครรับทราบโดยเร็ว

ข้อ 9.   สมาชิกภาพ
9.1 สมาชิกสามัญ เริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติให้เป็นสมาชิก
9.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ เริ่มตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับส่งถึงสมาคม

ข้อ 10. สมาชิกภาพของสมาชิก ให้สิ้นสุดด้วยเหตุดังนี้
10.1 ตาย
10.2 ลาออก โดยอนุมัติของคณะกรรมการ
10.3 ขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิก
10.4 คณะกรรมการมีมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน เนื่องจากนำความเสื่อมเสียสู่สมาคม

ข้อ 11. สิทธิของสมาชิก
11.1  สมาชิกสามัญ มีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งหรือรับเลือกตั้งเป็นกรรมการสมาคม
11.2 สมาชิกทุกประเภท มีสิทธิในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมรับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมจัดขึ้น เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีตลอดจนร้องขอเพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สิน  ของสมาคม

ข้อ 12. หน้าที่ของสมาชิก สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของ ทุกประเภท สมาคมโดยเคร่งครัด ประพฤติตนเหมาะสม เข้าร่วมกิจกรรม
ที่สมาคมจัดขึ้น ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของ  สมาคม และช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่าง
แพร่หลาย หมวดที่ 4 การดำเนินกิจการของสมาคม

ข้อ 13. ให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน
และไม่เกิน 20 คน ได้มาจาก
13.1 การเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ประจำปี ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด โดยให้เป็นนายกสมาคม 1 คน และอุปนายก 1 คน ส่วนกรรมการอื่นๆ ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง
13.2 การแต่งตั้ง โดยมติของคณะกรรมการได้จำนวนเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง และรวมกันไม่เกิน 20 คน
13.3 กรรมการที่ปรึกษา แต่งตั้งจากสมาชิกกิตติมศักดิ์หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการเห็นสมควร ทั้งนี้ต้องมีจำนวนไม่เกิน 10 คน

ข้อ 14. หน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละตำแหน่ง มีดังนี้
14.1 นายกสมาคม   ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารงานของสมาคมและเป็นผู้แทนของสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
14.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารงานของสมาคมและ การเป็นตัวแทนเมื่อนายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม
14.3 เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการทั้งหมดของสมาคม เป็นหัวหน้าสำนักงาน สมาคม และทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมกรรมการ
14.4 เหรัญญิก ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานการเงินทั้งหมดของสมาคม จัดทำบัญชีรับจ่าย และบัญชีงบดุลของสมาคม ชำระภาษี และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เพื่อการตรวจสอบ
14.5 ปฏิคม ทำหน้าที่ต้อนรับแขกของสมาคม จัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและ จัดเตรียมสถานที่ในการประชุมทุกครั้ง
14.6 นายทะเบียน ทำหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกของสมาคมทั้งหมด ประสานงาน กับเหรัญญิกในการจัดเก็บค่าสมัครสมาชิก
14.7 ประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ช่วยการทำวารสารหรือจุลสาร หน้าที่เผยแพร่กิจการและ ชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาชิกให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
14.8 วิชาการ  ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการและและการวิจัยที่สมาคม หรือสมาชิกจัดขึ้น เผยแพร่งานวิชาการสู่สาธารณชน รวมทั้งจัดทำวารสารหรือจุลสารของสมาคม
14.9 สวัสดิการ ทำหน้าที่จัดสวัสดิการ และจัดอำนวยประโยชน์แก่สมาชิก
14.10 กรรมการกลาง ทำหน้าที่ช่วยเหลืองานและกิจกรรมของฝ่ายต่างๆ ตามที่สมาคม จัดขึ้นและมอบหมายหน้าที่ให้

ข้อ 15. วาระการดำรงตำแหน่งให้กรรมการทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งได้ 2 ปี และไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน โดยหมดวาระพร้อมนายกสมาคม ก่อนหมดวาระให้ทำการส่งและรับมอบงานให้เสร็จภายใน 30 วัน อนึ่ง หากมีตำแหน่งว่างก่อนครบวาระ นายกสมาคมโดยมติของกรรมการจะเลือกผู้ที่ เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนเท่ากับวาระของตนเท่านั้น

ข้อ 16. กรรมการจะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ 16.1 ตาย 16.2 ลาออก 16.3 ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6 16.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 17. กรรมการที่ประสงค์ลาออก ต้องยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการและรอผลการพิจารณาก่อนจึงออกได้

ข้อ 18. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
18.1 อำนาจ ออกกฏระเบียบต่างๆ แต่งตั้งสมาชิกกิตติมศักดิ์ กรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ถอดถอนสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่สมาคม
เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีและประชุมใหญ่วิสามัญ เป็นตัวแทนสมาคมติดต่อกับบุคคลภายนอกและบริหารกิจการของสมาคมตามที่กำหนดใว้ในวัตถุประสงค์
18.2 หน้าที่ รับผิดชอบกิจกรรมทั้งหมดของสมาคม รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินของสมาคม จัดประชุมและตอบข้อซักถาม รวมทั้งให้การช่วยเหลือสมาชิกเท่าที่จำเป็น จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อการตรวจสอบและชำระภาษี รวมทั้งแจกจ่ายเอกสารพร้อมรายงานการประชุมให้สมาชิกทราบด้วย

ข้อ 19. คณะกรรมการต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการ ของสมาคม

ข้อ 20. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด มติของที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ หากมีคะแนนเท่ากันให้ประธาน
ในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 21.  ในการประชุม หากนายกและอุปนายกไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกผู้ที่เหมาะสม เพื่อเป็นประธานในการประชุมนั้น

ข้อ 22. ให้มีกรรมการกิตติมศักดิ์ จำนวนตามความเหมาะสม โดยคณะกรรมการดำเนินงานพิจารณาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณความรู้ในวิชาชีพการพยาบาล เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำทางด้านการบริหารการพยาบาล เผยแพร่เกียรติยศชื่อเสียงและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสมาคม

ข้อ 23. ให้มีกรรมการที่ปรึกษา จำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการดำเนินงาน โดยพิจารณาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณความรู้ในสาขาวิชาการบริหารการพยาบาลเพื่อให้คำปรึกษาใน
การดำเนินงานของสมาคมและร่วมเป็นกรรมการตัดสินการให้รางวัลผู้บริหารการพยาบาลดีเด่นของสมาคม

ข้อ 24. ให้มีกรรมการพิเศษ จำนวนตามความเหมาะสม โดยพิจารณาแต่งตั้งจากผู้บริหารการพยาบาลที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างสมาคมกับหน่วยงานและให้การสนับสนุนกิจกรรมของสมาคม

หมวดที่ 5 การประชุมใหญ่

ข้อ 25. การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 3 ชนิด คือ
25.1 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จัดประชุมปีละ 1 ครั้ง เพื่อแถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปีแถลงการเงินและการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี เลือกตั้งกรรมการชุดใหม่และอื่นๆ
25.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ จัดประชุมได้ตามความจำเป็นหรือการเรียกร้องของสมาชิกเพื่อพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานของสมาคม
25.3 การประชุมวิชาการ จัดประชุมได้ตามการพิจารณาของคณะกรรมการ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สมาชิกรวมทั้งการให้หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องสาขาพยาบาลศาสตร์

ข้อ 26. กำหนดนัดหมายการประชุม ให้เลขานุการแจ้งนัดหมายพร้อมวาระการประชุมให้กรรมการ หรือผู้เข้าประชุมทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

ข้อ 27. มติในที่ประชุมใหญ่ ต้องเผยแพร่ให้สมาชิกทุกคนรับทราบทั่วกันภายใน 14 วัน หมวดที่ 6 การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 28. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมด ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดที่เก็บหมุนเวียนใช้จ่ายต้องไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท นอกจากนั้นให้นำฝากไว้ในธนาคาร ในนามของสมาคม และผู้มีอำนาจเบิกจ่ายประกอบด้วยบุคคลสองในสามคือ นายก เลขานุการ หรือเหรัญญิก

ข้อ 29. การสั่งจ่ายเงิน นายกมีอำนาจสั่งจ่ายได้ครั้งละไม่เกินห้าหมื่นบาท และคณะกรรมการจะอนุมัติ ให้จ่ายเงินได้ไม่เกินหนึ่งแสนบาท หากต้องการจ่ายมากกว่านี้ต้องขอมติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ 30. หลักฐานการรับจ่ายเงิน เหรัญญิกจัดดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการโดยใช้ใบเสร็จของสมาคมทุกครั้ง รวมทั้งจัดชำระภาษีให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

ข้อ 31.  ผู้ตรวจสอบบัญชี จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับกรรมการใด และเป็นผู้มีอำนาจในการเรียกเอกสาร เชิญกรรมการที่เกี่ยวข้องมาซักถาม และกรรมการทุกคนต้องให้ความร่วมมือด้วยดีทุกครั้ง
ที่ได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 7 การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 32. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุม

ข้อ 33. การเลิกสมาคม จะกระทำได้โดยมติที่ประชุมใหญ่ โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของ สมาชิกสามัญที่เข้าประชุมทั้งหมด และทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้ตกเป็นของ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อเป็นกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมต่อไป หมวดที่ 8 บทเฉพาะกาล

ข้อ 34.  ข้อบังคับนี้ให้เริ่มบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ 35. เมื่อสมาคม จดทะเบียนจากทางราชการเรียบร้อยแล้ว ให้ถือว่าผู้ริเริ่มทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญของสมาคม